คุณรู้หรือไม่? ปัญหายาเสพติดไม่เคยห่างหายไปจากสังคมของเรา แม้จะมีความพยายามกวาดล้างมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนก็ตาม ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ ปัญหายาเสพติดนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ในบทความนี้เราจะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน รวมถึงเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไม ปัญหายาเสพติดถึงยังมีอยู่ และยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ วัน
การกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดที่เราได้เห็นตามข่าวอยู่บ่อย ๆ ถือว่าเป็นวิธีจัดการในเชิงรุกที่ทุก ๆ ประเทศต่างก็มีแนวทางคล้าย ๆ กัน แต่ในบางมุมมอง ก็เป็นเหมือนการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้ตรงจุดสักเท่าไหร่ เนื่องจากปัญหายาเสพติดในชุมชน ก็ยังไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะโดยส่วนมาก พฤติกรรมการใช้ยาเสพติดจะเริ่มต้นจากในชุมชนผ่านจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเพื่อนในละแวกบ้าน คนในชุมชนเดียวกัน แม้กระทั่งคนในครอบครัวเองก็ตาม โดยปัญหายาเสพติดในชุมชน มีสาเหตุหลักดังต่อไปนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำคือบ่อเกิดของปัญหายาเสพติดในระดับชุมชน เพราะในชุมชนแออัดหลายแห่งในประเทศไทย ปัญหาในชุมชนที่พบบ่อยจนเป็นเรื่องชินตาก็จะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากความยากจนทำให้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงหลาย ๆ สิ่งไป โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาและระบบสาธารณสุข จนทำให้หลงผิดเข้าไปสู่วังวนของยาเสพติด
เพราะสถาบันครอบครัวเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เยาวชนหลงผิดไปในทิศทางที่ไม่ดี ทำให้พบว่าเยาวชนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมักจะเกิดกับผู้ที่มีสถาบันครอบครัวไม่แข็งแรง พ่อแม่หย่าร้าง มีการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงมีการใช้ยาเสพติดในบ้าน โดยมีการรายงานจาก สสส. ว่าเยาวชนที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวเป็นอย่างดี มีแนวโน้มของความเสี่ยงที่ต่ำมากที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติด
เมื่อเทียบกับในอดีตแล้ว การเข้าถึงช่องทางของการซื้อขายยาเสพติด ทุกวันนี้ทำได้ง่ายดายเอามาก ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ที่สำคัญคือยาเสพติดนั้นมีราคาที่ถูกลงมาอย่างน่าใจหาย ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีกำลังทรัพย์มากสักเท่าไหร่ ก็สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้โดยง่าย จนกลายเป็นปัญหายาเสพติดในชุมชนที่เรากำลังเผชิญในทุกวันนี้นั่นเอง
เป็นเรื่องน่าตกใจที่เราต้องรับรู้ว่าปัญหายาเสพติดเกิดจาก ช่องโหว่ของกฎหมาย เนื่องจากในตอนนี้สิ่งเสพติดหลาย ๆ อย่าง จากเดิมที่เคยถูกควบคุมอย่างเข้มงวด กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ ใบกระท่อม และ กัญชา แม้จะมีกฎหมายที่จำกัดการใช้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น
การจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องของยาเสพติด ควรต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับพฤติกรรมบางอย่างและทัศนคติที่บิดเบี้ยวของผู้ที่ใช้ยาเสพติดเสียก่อน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อความบันเทิงหรือความอยากรู้อยากลอง จากการศึกษาปัญหาจากหลาย ๆ ชุมชน ทำให้เราได้พบพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันดังต่อไปนี้
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเครียดอย่างหนักหน่วง มีโอกาสที่จะหันไปพึ่งพายาเสพติดมากกว่าบุคคลทั่วไปถึง 3 เท่า ไม่ว่าที่มาของความเครียดจะเกิดจากเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ ด้านการเงิน หรือ ปัญหาจากสุขภาพจิต ก็ตาม เพื่อให้ฤทธิ์ของยาเสพติดพาหลีกหนีออกจากโลกแห่งความจริง
ค่านิยมผิด ๆ รวมถึงการที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่เพียงพอ ทำให้การแพร่หลายของยาเสพติดในชุมชนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยาเสพติดบางอย่างอาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิด อาทิเช่น การใช้กัญชาในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มว่าผู้ใช้จะอายุน้อยลงเรื่อย ๆ หรือ การดื่มน้ำกระท่อมที่แพร่หลาย หาซื้อได้ง่ายตามสองข้างทาง เป็นต้น
สืบเนื่องจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่งผลให้คนบางกลุ่ม เลือกที่จะเบนเข็มจาก ผู้เสพ กลายเป็น ผู้ค้า รับบทบาทสำคัญในการกระจายยาเสพติดในชุมชน เพราะเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญพิเศษ ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา แถมรายได้ก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่าเลยทีเดียว
นอกจากปัจจัยภายนอกอย่างปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหายาเสพติดในชุมชน ก็จะเป็นในเรื่องของโครงสร้างภายในของชุมชน เพราะจากการสังเกตชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดแล้ว มักพบว่ามีปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกัน อาทิเช่น
ชุมชนที่มีพื้นที่เสี่ยง มักจะเป็นชุมชนที่มีความแออัด มีซอยแคบ ๆ ประกอบด้วยเส้นทางที่สลับซับซ้อน ไม่ค่อยมีกล้องวงจรปิด เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก และขาดการเฝ้าระวังภายในชุมชน ผู้อยู่อาศัยไม่ใส่ใจกับปัญหายาเสพติด ไม่กล้าที่จะแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออาจให้ความคุ้มครองผู้ค้า เนื่องจากมีความสัมพันธ์ในเครือญาติ
หลาย ๆ ชุมชน เยาวชนต้องเผชิญกับปัญหายาเสพติดในชุมชน เนื่องด้วยพวกเขาไม่มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อาทิเช่น พื้นที่สำหรับการหาความรู้ พื้นที่สำหรับการเล่นกีฬา ไปจนถึงกิจกรรมที่สร้างสรรค์อื่น ๆ อย่าง ดนตรี ศิลปะ เป็นต้น และนั่นจึงเป็นที่มาของการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น จนเตลิดถึงขั้นทดลองใช้ยาเสพติดนั่นเอง
การแก้ไขปัญหายาเสพติดของหลาย ๆ ชุมชนนั้นเป็นการแก้ไขในลักษณะของผักชีโรยหน้าเพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นการจัดการที่ต้นเหตุ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยในระยะยาวแต่อย่างใด การแก้ไขที่ถูกต้องควรตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ความยั่งยืน เช่น สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน มีการให้ความรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด และสนับสนุนให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ เป็นต้น
ในปี 2568 ข่าวยาเสพติดในชุมชนที่น่าสนใจ ก็จะเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐจริงจังกับการกวาดล้างยาเสพติดมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องจัดการให้สิ้นซาก โดยเริ่มกวาดล้างจากระดับชุมชนไปสู่ระดับประเทศ เบื้องต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีการเผาทำลายไปแล้วกว่า 27 ตัน
อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยยังได้แจ้งแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมเน้นย้ำให้กับกรมการปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศปราบปราม ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนโดยเร็วที่สุด
หลากหลายปัญหาที่เราต้องเผชิญในทุกวันนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อกฎหมายต่าง ๆ การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงวิธีการรับมือของคนในชุมชน ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนในแนวทางที่ควรจะเป็น เพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนภายในชุมชน
เริ่มต้นจากคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเรื่องของปัญหายาเสพติด มีการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด มีการช่วยเป็นหูเป็นตา คอยตักเตือนไม่ให้เยาวชนในชุมชนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีแบบอย่างเป็นโครงการ ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติด ที่ สสส. ได้จัดตั้งขึ้นมาแล้วในหลาย ๆ จังหวัด
การป้องกันปัญหายาเสพติดที่ดีที่สุด ควรเริ่มต้นจากการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจ ปลูกฝังตั้งแต่อยู่ในช่วงเยาวชน เพื่อให้เห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น หากเกิดการริเริ่มใช้ยาเสพติด พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมสำหรับเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้านกีฬา การส่งเสริมในด้านการศึกษา รวมถึงกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่จะช่วยให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด
เพราะความยากจนเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ที่อาศัยในชุมชนมีความเสี่ยงที่จะยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ตรงจุดคือการพัฒนาอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การฝึกอบรมอาชีพ การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หรือการสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น
สุดท้ายเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนที่ส่งผลดีในระยะยาว และ อยากให้ทุก ๆ ชุมชนมีเหมือน ๆ กัน นั่นก็คือการแนะนำให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้เข้าสู่กระบวนการของการบำบัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากกลับตัวกลับใจ ได้รักษาบำบัดเพื่อกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นปกติสุข พร้อมกับการให้ความรู้ถึงประโยชน์ของการเข้ารับการบำบัด และขั้นตอนการบำบัดให้กับครอบครัวของผู้ที่ใช้ยาเสพติด
การจะแก้ไขปัญหายาเสพติดได้นั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ที่อาศัยในชุมชนจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สถาบันครอบครัวจะต้องดูแลเยาวชนอย่างใกล้ชิด คอยชี้แนะบุตรหลานอย่างถูกวิธี ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็ต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย คอยดูแลให้ความรู้ให้กับคนในชุมชน ถึงผลเสียของการใช้ยาเสพติด และมีการนำผู้ที่มีปัญหาใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสม
โดย Lighthouse เป็นสถานบำบัดยาเสพติดเอกชนในรูปแบบกินนอนที่เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีผู้ติดยาเสพติด และต้องการรักษาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ตั้งอยู่ในบริเวณชานเมืองอันเงียบสงบของกรุงเทพมหานคร ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยทีมงานผู้มากประสบการณ์จากหลากหลายสาขา พร้อมกับเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ ไม่มีประวัติติดตัว ติดต่อเราได้เลยวันนี้
Lighthouse Human Services & Consulting, Co., Ltd.
Head Office:
Ramkamheng 118
Saphan Sung, Bangkok 10240
Thailand