โรคสมองติดยาคืออะไร รักษายังไงให้หายขาด

คนที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองควบคุมการเสพไม่ให้ติดได้ หรือสามารถเลิกเองได้เมื่อไหร่ก็ตามที่อยากจะเลิก แต่ความจริงแล้วมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเมื่อมีการเสพยาอย่างต่อเนื่อง สมองของคนเราจะค่อยๆ ปรับตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จนตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “สมองติดยา” กว่าจะรู้ตัวก็ไม่สามารถควบคุมอาการอยากยาได้แล้ว แม้จะอยากเลิกก็ทำได้ยากเช่นกัน สาเหตุเป็นเพราะอะไร และจะมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

โรคสมองติดยาคืออะไร

โรคสมองติดยา คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการทำงานของสมอง เนื่องมาจากการใช้ยาเสพติดเป็นเวลานานหรือใช้ปริมาณมาก ทำให้สมองส่วนความคิด (Cerebral Cortex) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิดและการตัดสินใจถูกทำลาย ส่งผลให้สมองส่วนอารมณ์ (Limbic System) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกมีอิทธิพลเหนือกว่า ผู้ป่วยจึงอยากใช้สารเสพติดซ้ำๆ โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

อาการทางกาย 

  • ร่างกายซูบผอม ผิวซีด อ่อนเพลีย
  • มีอาการวิตกกังวล หวาดระแวง เห็นภาพหลอน
  • ต้องการเสพยามาก และจะรู้สึกหงุดหงิด ทุรนทุราย เมื่อไม่ได้เสพ 
  • ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ เกิดอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด ใช้ความรุนแรง ทำร้ายผู้อื่น ฯลฯ
  • พยายามหาสารเสพติดมาใช้แม้รู้ว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
  • พยายามลดหรือเลิกการใช้สารเสพติดอยู่เสมอแต่ทำไม่สำเร็จ

สาเหตุ

โรคสมองติดยา เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสมองก็จริง แต่สาเหตุที่ทำให้คนเลือกที่จะใช้ยาเสพติดซ้ำๆ เกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพสังคมและการเลี้ยงดู ผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงทัศนคติหรือความเชื่อผิดๆ เช่น บางคนอาจมองว่าการใช้ยาเสพติดทำให้ดูเท่ เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน หรือรู้สึกว่าเป็นการหนีจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต แม้ในความเป็นจริงกลับจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

สารเคมีในสมองส่งผลต่อการเสพติดอย่างไร

ยาเสพติดทำลายสมองโดยการกระตุ้นให้สมองส่วนอารมณ์สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งปกติจะถูกหลั่งออกมาเมื่อมีความสุขหรือพึงพอใจ เช่น เวลาได้ทำให้สิ่งชอบ ได้กินของอร่อย แต่ยาเสพติดจะทำให้โดปามีนถูกหลั่งออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ ผู้เสพจึงรู้สึกดีมาก มีอาการที่เรียกว่า “ไฮ (High)” หรืออารมณ์ทะยานขึ้นสูง แต่พอฤทธิ์ของยาเสพติดหมดลง ก็จะหงุดหงิด เศร้าหมอง และต้องการใช้ยาซ้ำเพื่อให้กลับไปรู้สึกดีอีกครั้ง 

พอใช้ไปนานๆ สมองของคนติดยาเสพติดจะปรับตัวและไม่ตอบสนองต่อโดปามีนเหมือนเดิม ทำให้ความรู้สึกดีจากการใช้สารเสพติดเกิดยากขึ้น เรียกว่า อาการทนทานต่อสารเสพติด (Tolerance) จึงต้องใช้สารเสพติดปริมาณมากขึ้นและบ่อยขึ้น เพื่อให้ได้ระดับความรู้สึกดีตามที่ต้องการ 

ผลกระทบของโรคสมองติดยามีอะไรบ้าง

เมื่อสมองถูกทําลายจากยาเสพติด จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ทำให้ผู้ป่วยอาจจะเลือกทำสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุผล รวมถึงส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวน ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็แย่ลง บางรายมีอาการหนักถึงขั้นหูแว่ว ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาสังคม เช่น การทะเลาะวิวาท ปล้นจี้ ฆ่าชิงทรัพย์ ทำร้ายคนรอบตัว

นอกจากนี้เซลล์สมองที่ถูกทำลายยังส่งผลกระทบต่อความจำและการเรียนรู้ ทำให้สมองจดจำข้อมูลได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ โดยเฉพาะผู้ที่เสพยานาน 5-10 ปีขึ้นไป สมองจะถูกทำลายมากจนกลายเป็นโรคสมองพิการถาวร ยากที่จะฟื้นฟูสมองจากยาเสพติดให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม  

ยาเสพติดที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองมากที่สุดมีอะไรบ้าง

ยาเสพติดทุกชนิดมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติในการคิด ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ แต่บางชนิดก็ส่งผลรุนแรงและเป็นอันตรายมากแม้ใช้ในระยะสั้นๆ เช่น

  1. โคเคน ขัดขวางการทำงานของเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมการปล่อยโดปามีน ทำให้โดปามีนถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้เสพจึงมีภาวะตื่นตัว (Alertness) ไม่หลับไม่นอน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการชัก หมดสติ ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
  2. เฮโรอีน เป็นยาเสพติดที่ติดง่ายที่สุดและมีอันตรายสูง เนื่องจากออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้การหายใจช้าลง ร่างกายจึงได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจน หรือความเสียหายของสมองในระยะยาว
  3. ยาไอซ์ หรือเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) มีความบริสุทธิ์สูงกว่ายาบ้า 4-5 เท่า จึงมีผลกระทบรุนแรงกว่า ผู้ที่เสพเป็นประจำจะมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ความจำเสื่อม
  4. ยาเค (Ketamine) ทางการแพทย์ใช้เป็นยาสลบ แต่บางคนนำมาใช้เสพเพราะฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง ทำให้เกิดอาการจิตหลอน ฝันกลางวัน รู้สึกเป็นอัมพาตชั่วคราว หากใช้เป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อสมอง และทำให้เป็นโรคจิตเภท

วิธีสังเกตว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเป็นโรคสมองติดยาแล้วหรือยัง

สมองติดยา อาการในช่วงแรกอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่าตัวเรา คนที่เรารัก หรือคนรอบข้างมีอาการที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนบางอย่าง เช่น

  • มีอาการอยากยาเมื่อไม่ได้ใช้ คิดถึงแต่เรื่องการหายามาเสพ มีอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือเย็น ปวดศีรษะ หงุดหงิด อารมณ์เสีย เมื่อไม่ได้ใช้ยา 
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเสพยาจนละเลยสิ่งที่ต้องทำ เช่น เรียน ทำงาน ดูแลครอบครัว มีอาการใจลอย ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้เป็นเวลานาน 
  • ขาดความสนใจในสิ่งรอบข้าง รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำอะไร หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ
  • อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า หงุดหงิด โกรธง่าย หรือโมโหแม้แต่เรื่องเล็กๆ พูดจาก้าวร้าว อาละวาด ทำลายข้าวของและผู้คน
  • ปัญหาสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม เจ็บป่วยง่าย นอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ มีอาการทางจิต เช่น เห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงหรือได้ยินเสียงที่ไม่มีคนพูด

วิธีป้องกันและรักษาโรคสมองติดยา

สมองติดยาเสพติดสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าถามว่าสมองติดยาเมื่อไหร่หายขาด ก็อาจต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้เสพ เพราะนอกจากการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ต้องทำการฟื้นฟูจิตใจควบคู่กันไปด้วย โดยมีแนวทางดังนี้

  • การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Medicine Treatment) บรรเทาความทรมานจากอาการถอนยา ทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิและมุ่งไปที่การบำบัดได้อย่างเต็มที่ 
  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy : CBT) ปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ หรือการตีความต่างๆ ที่อาจบิดเบือนจากความจริง รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • ชุมชนบำบัด (Therapeutic Community) ให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตโดยปราศจากสารเสพติด ในรูปแบบที่เหมือนกับการใช้ชีวิตในสังคมปกติ เช่น ให้ฝึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อยู่ร่วมกับผู้อื่น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการบำบัด ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ  
  • การบำบัดแบบกลุ่ม (Group Therapy) ให้สมาชิกในกลุ่มแบ่งปันประสบการณ์และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว และมีแรงบันดาลใจในการเลิกยา
  • ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ผู้ป่วยและครอบครัวจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา และปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสพยา 
  • ติดตามหลังการรักษา (Aftercare Service) ให้การสนับสนุนและติดตามผู้ป่วยหลังเสร็จสิ้นการบำบัดในโรงพยาบาลหรือศูนย์บำบัดยาเสพติด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวได้อย่างราบรื่น และลดโอกาสกลับไปใช้ยาซ้ำ

โรคสมองติดยา คืออาการป่วยชนิดหนึ่งไม่ต่างจากโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่ติดยาจึงควรเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและเร็วที่สุด ศูนย์บำบัดยาเสพติด Lighthouse เรามีประสบการณ์กว่า 35 ปีในการดูแลผู้ที่ติดยาเสพติด โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำและออกแบบโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่ดี ร่มรื่น ผ่อนคลาย สะดวกสบาย และการดูแลตลอด 24 ชม. ที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราได้ทันที เบอร์โทร: 0852132179 อีเมล: [email protected]

References

ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล. กลไกสมองติดยาและแนวทางบำบัด. เข้าถึงได้จาก https://cads.in.th/cads/media/upload/1635493666-กลไกสมองติดยาและแนวทางบำบัด%2029102021.pdf 

National Institute on Drug Abuse. 2011. Drugs, Brains, and Behavior: The Science of Addiction. เข้าถึงได้จาก https://nida.nih.gov/publications/drugs-brains-behavior-science-addiction/treatment-recovery Roots Through Recovery. 2021. 5 Most Damaging Drugs for Your Brain and Their Impact. เข้าถึงได้จาก https://roots-recovery.com/5-most-brain-damaging-drugs/

ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและด้านสภาพจิตใจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เกี่ยวกับศูนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์

เป็นศูนย์ฟื้นฟูและพักฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพ ศุนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในรูปแบบอเมริกัน ให้การรักษาติดยาเสพติดที่มีคุณภาพสูงสุดในราคาที่เหมาะสมและเป็นการบำบัดแบบเฉพาะในประเทศไทยเพื่อให้การรักษาเป็นรายบุคคลกับผู้บำบัดรักษาทุกราย เราเป็นเจ้าของและดำเนินการโดยทีมงานชาวอเมริกันและคนไทยที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมการรักษาการติดยาเสพติดและความผิดปกติด้านสุขภาพจิตจากสหรัฐอเมริกา

บริการของเรา

ให้การรักษาอาการของผู้ที่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์โดยมีวิธีการรักษาแบบเหมาะสำหรับแต่ละบุคคล เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดการติดยาเสพติดที่มีคุณสมบัติและความรู้เหมาะสมที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ของเราทุกคนจบปริญญาโทหรือสูงกว่าโดยมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานด้านสุขภาพจิตและการรักษาติดยาเสพติด ได้รับการฝึกอบรมในการรักษาการติดยาเสพติดและรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านสุขภาพจิต

ติดต่อเรา

Lighthouse Human Services & Consulting, Co., Ltd.

Head Office:
Ramkamheng 118
Saphan Sung, Bangkok 10240
Thailand

Email: [email protected]