10 สิ่งที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับแก๊สหัวเราะ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ลูกโป่งหัวเราะ ยาเสพติดที่กลับมาระบาดหนักในช่วงหลังโควิดนี้ จริงๆ แล้วเป็นยาชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในทางการแพทย์เพื่อให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดก่อนทำการผ่าตัดหรือถอนฟัน แต่เมื่อมีคนนำมาใช้ผิดวิธี เช่น สูดดมเพื่อความสนุกหรือทำให้เคลิบเคลิ้ม อาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรง ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ บทความนี้จึงจะพาไปเจาะลึก 10 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับแก๊สหัวเราะ รวมถึงอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

แก๊สหัวเราะคืออะไร

แก๊สหัวเราะ คือ สารประกอบทางเคมีชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่ติดไฟ มีกลิ่นและรสหวานเล็กน้อย ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชา ช่วยระงับอาการปวด อีกทั้งยังเป็นสารที่ออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์เร็ว จึงเหมาะสำหรับการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน เช่น ทันตกรรม ทำคลอด หรือผ่าตัดเล็ก นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น บรรจุในถุงลมนิรภัยรถยนต์หรือบรรจุในกระบอกวิปปิ้งครีม เพื่อให้ครีมมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มฟูมากขึ้น แต่คนบางกลุ่มก็นำไปบรรจุในลูกโป่งและใช้สูดดมเพื่อความบันเทิง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง 

กลไกการออกฤทธิ์ของแก๊สหัวเราะ

เมื่อดูดแก๊สลูกโป่งเข้าไป ไนตรัสออกไซด์จะถูกดูดซึมผ่านปอดเข้าสู่กระแสเลือด และออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยไปยับยั้งการทำงานของตัวรับที่ชื่อ NMDA (N-Methyl-D-Aspartate receptors) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งผ่านสัญญาณความเจ็บปวด เมื่อตัวรับนี้ทำงานได้ไม่เต็มที่ สัญญาณความเจ็บปวดก็จะถูกส่งต่อไปยังสมองได้น้อยลง ในขณะเดียวกันยังไปกระตุ้นการสร้างโดปามีน (Dopamine) หรือสารสื่อประสาทที่จะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความพึงพอใจ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและผ่อนคลาย 

การใช้แก๊สหัวเราะเพื่อความบันเทิง

การนำแก๊สหัวเราะไปสูดดมเพื่อความสนุกหรือความรู้สึกมึนเมา เป็นปัญหาที่มีมานานทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก เพราะแก๊สชนิดนี้หาซื้อง่ายและมีราคาที่ย่อมเยา นอกจากจะสั่งซื้อได้ตามช่องทางออนไลน์ ยังมีขายตามซูเปอร์มาร์เกต โดยมักจะถูกบรรจุอยู่ในกระบอกสำหรับทำวิปปิ้งครีม 

วิธีใช้ที่นิยมคือการนำมาอัดใส่ลูกโป่งก่อนสูดดม เนื่องจากแก๊สมีอุณหภูมิต่ำประมาณ -40 องศาเซลเซียส หากสูดจากกระบอกโดยตรงอาจทำให้เกิดแผลไหม้จากความเย็นบริเวณริมฝีปาก จมูก ลำคอ รวมถึงเส้นเสียง อีกทั้งความดันที่สูงก็อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อปอดด้วย แต่เมื่อนำมาบรรจุในลูกโป่งจะทำให้ก๊าซอุ่นขึ้น และช่วยควบคุมความเร็วของก๊าซที่จะปล่อยเข้าปากได้ง่ายขึ้นด้วย

อาการหลังดูดแก๊สลูกโป่ง

ผู้ที่สูดดมแก๊สหัวเราะจะมีความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ รู้สึกสนุกสนาน มีความสุข ล่องลอย หัวเราะแบบควบคุมไม่ได้ บางรายอาจมีอาการวิงเวียน มึนศีรษะ มองเห็นภาพเบลอ สับสน รู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 10 วินาทีหลังใช้ แต่จะคงอยู่ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งการที่สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ไม่นาน ก็ทำให้หลายคนคิดว่าปลอดภัย และเผลอใช้ในปริมาณมากโดยไม่ทันระวังนั่นเอง 

แก๊สกระป๋องอันตรายไหม

แก๊สกระป๋องที่บรรจุไนตรัสออกไซด์อันตรายมาก หากสูดดมมากๆ หรือสูดดมบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้

ผลกระทบในระยะสั้น 

  • ความดันโลหิตต่ำ 
  • ออกซิเจนต่ำ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มึนงง
  • เป็นลม ชัก หมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ 
  • เส้นประสาทถูกทำลาย

ผลกระทบในระยะยาว 

  • ภาวะซึมเศร้า โรคจิตเภท อารมณ์แปรปรวน
  • ภาวะขาดวิตามินบี 12 
  • สูญเสียความทรงจำ ขาดสมาธิ
  • กล้ามเนื้อกระตุก
  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
  • ประสาทหลอน หูแว่ว หูอื้อ 
  • มีอาการชา โดยเฉพาะที่มือและเท้า
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • หากใช้ระหว่างตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสที่จะพิการแต่กำเนิด

แก๊สหัวเราะทำให้เกิดการเสพติดหรือไม่

แก๊สหัวเราะ ลูกโป่ง ไม่ได้ก่อให้เกิดการเสพติดในรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน หรือการเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมองเหมือนกับยาเสพติดชนิดอื่น แต่อาจทำให้เกิดการเสพติดได้เหมือนกัน เนื่องจากสมองชอบความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เป็นสุข ที่เกิดขึ้น เหมือนได้รางวัล ทำให้อยากใช้ซ้ำอีกเรื่อยๆ หรือบางคนก็ใช้เพื่อคลายเครียดเป็นประจำจนติด แต่ยิ่งใช้บ่อยก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย เพราะเมื่อสูดดมเข้าไป แก๊สหัวเราะจะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในปอด ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ และเกิดภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การใช้แก๊สหัวเราะร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น

การใช้ลูกโป่งแก๊สหัวเราะร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่นจะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสารบางชนิดออกฤทธิ์เสริมกันหรือทำปฏิกิริยาระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายในทางลบ เช่น

  • ใช้แก๊สหัวเราะกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ หรือยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีน เพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ยาเกินขนาด ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ง่วงซึม เสียการทรงตัว ความจำเสื่อม หรือถึงขั้นหมดสติ
  • ใช้แก๊สหัวเราะกับกัญชา เคตามีน หรือสารหลอนประสาทอื่นๆ อาจทำให้ฤทธิ์ของยาเหล่านี้รุนแรงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเกิดภาพหลอน

แก๊สหัวเราะผิดกฎหมายไหม

การผลิตและจำหน่ายแก๊สหัวเราะ ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ข้อหาผลิตหรือขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่นำมาบรรจุไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ก็จะมีความผิดข้อหาผลิตหรือขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เมื่อเลิกใช้แก๊สหัวเราะจะทำให้เกิดอาการถอนยาหรือไม่

การลดหรือหยุดใช้ก๊าซหัวเราะอย่างกะทันหันในผู้ที่ใช้ติดต่อกันมานาน อาจทำให้เกิดอาการอยากยา หรือเกิดอาการถอนยาเสพติดในระดับที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับอาการถอนแอลกอฮอล์หรือฝิ่น โดยอาการที่พบได้ เช่น

  • รู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล หงุดหงิด และมีอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยบางราย 
  • รู้สึกเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • นอนหลับยาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน 
  • ขาดสมาธิและความสนใจ ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน

ทั้งนี้อาการทางระบบประสาทมักจะคงอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์หลังการใช้ครั้งสุดท้าย ส่วนอาการทางจิตใจและร่างกายสามารถอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล

วิธีป้องกันอันตรายจากแก๊สหัวเราะ

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการลองเสพเพื่อความสนุกหรือความตื่นเต้นใดๆ ก็ตาม และไม่ซื้อหามาใช้เองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะหลายคนมักคิดว่าแค่ลองครั้งเดียวคงไม่เป็นไร และมั่นใจว่าตนเองสามารถควบคุมได้ แต่ความเชื่อเหล่านี้คือกับดักที่จะทำให้หลายคนหลุดเข้าไปในวงจรยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว 

แก๊สหัวเราะ ยาเสพติดที่วัยรุ่นกำลังนิยมเสพกันอยู่ตอนนี้ หากรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่หากนำมาใช้ผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อชีวิตและร่างกายได้ หากคุณหรือคนใกล้ตัวกำลังเผชิญกับอาการเสพติดแก๊สหัวเราะ หรือสารเสพติดชนิดใดก็ตาม รีบเลิกวันนี้ก่อนที่จะสาย ศูนย์บำบัดยาเสพติด Lighthouse ยินดีที่ให้คำปรึกษาและมอบการบำบัดที่ถูกหลัก โดยมุ่งเน้นไปที่การออกแบบโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เข้ารับบริการ พร้อมการดูแลอย่างอบอุ่นจากเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถเอาชนะยาเสพติด และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันที เบอร์โทร: 0852132179 อีเมล: [email protected]

References

Stuart Croft. 2024. Hippy Crack/Nitrous Oxide Addiction: An Overview of its Effects, Withdrawal Symptoms, and Treatment Options. เข้าถึงได้จาก https://gladstonesclinic.com/blog/addiction-news/hippy-crack-nitrous-oxide-addiction/ 

Alexandra Benisek and Kathryn Whitbourne. 2024. Whippets: What You Need to Know About These Inhalant Drugs. เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com/mental-health/addiction/what-are-whippets 

ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและด้านสภาพจิตใจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เกี่ยวกับศูนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์

เป็นศูนย์ฟื้นฟูและพักฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพ ศุนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในรูปแบบอเมริกัน ให้การรักษาติดยาเสพติดที่มีคุณภาพสูงสุดในราคาที่เหมาะสมและเป็นการบำบัดแบบเฉพาะในประเทศไทยเพื่อให้การรักษาเป็นรายบุคคลกับผู้บำบัดรักษาทุกราย เราเป็นเจ้าของและดำเนินการโดยทีมงานชาวอเมริกันและคนไทยที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมการรักษาการติดยาเสพติดและความผิดปกติด้านสุขภาพจิตจากสหรัฐอเมริกา

บริการของเรา

ให้การรักษาอาการของผู้ที่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์โดยมีวิธีการรักษาแบบเหมาะสำหรับแต่ละบุคคล เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดการติดยาเสพติดที่มีคุณสมบัติและความรู้เหมาะสมที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ของเราทุกคนจบปริญญาโทหรือสูงกว่าโดยมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานด้านสุขภาพจิตและการรักษาติดยาเสพติด ได้รับการฝึกอบรมในการรักษาการติดยาเสพติดและรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านสุขภาพจิต

ติดต่อเรา

Lighthouse Human Services & Consulting, Co., Ltd.

Head Office:
Ramkamheng 118
Saphan Sung, Bangkok 10240
Thailand

Email: [email protected]