การตรวจสารเสพติดมีกี่วิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง?

การตรวจสารเสพติด เป็นกระบวนการที่ใช้วิเคราะห์หาสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันและจัดการปัญหาการใช้ยาเสพติด รวมถึงช่วยประเมินภาวะ สมองติดยาที่เกิดจากการใช้สารเสพติดอย่างต่อเนื่อง จึงถูกนำไปใช้ในหลายกรณี เช่น ตรวจเพื่อเข้ารับการบำบัด ติดตามผลการรักษา สมัครงาน ตรวจก่อนลงแข่งขัน หรือใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยการตรวจสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ เลือด เส้นผม น้ำลาย เหงื่อ มาดูกันเลยว่าแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกันอย่างไรบ้าง

การตรวจสารเสพติดจากปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อีกทั้งผลการตรวจยังเป็นที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมระดับสากล โดยผลที่ออกมาเป็นบวก มักถูกเรียกว่า “ผลตรวจฉี่ม่วง” แม้ว่าปัสสาวะจะไม่ได้มีสีม่วงจริงๆ แต่เป็นเพราะรูปแบบการตรวจในสมัยก่อนใช้หลักการคัลเลอร์เทสต์ (Color Test) ซึ่งหากมีการใช้สารเสพติด ปัสสาวะจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่ใช้ทดสอบ และเปลี่ยนเป็นสีม่วง ปัจจุบันวิธีนี้ไม่นิยมแล้ว และผลตรวจที่ออกมามีสีม่วงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมียาเสพติดเสมอไป เนื่องจากยาบางชนิดก็อาจทำให้ผลตรวจออกมาเป็นบวกได้ ตัวอย่างฉี่สีม่วงเกิดจากอะไรบ้าง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้า ไบโพลาร์ เป็นต้น

ตรวจปัสสาวะบอกอะไรได้บ้าง? การตรวจนี้สามารถพบสารเสพติดได้หลายชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ฝิ่น กัญชา โคเคน เฮโรอีน มอร์ฟีน ทั้งนี้สารเสพติดอยู่ในฉี่กี่วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสาร และระยะเวลาในการเสพ เช่น

  • สารเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน
    1 – 3 วัน ในผู้ที่ไม่ได้เสพเป็นประจำ
    2 – 6 วัน ในผู้ที่เสพประจำ
    2 – 3 สัปดาห์ ในผู้ที่เสพเรื้อรัง
  • กัญชา
    2 – 5 วัน ในผู้ที่ไม่ได้เสพเป็นประจำ
    4 – 14 วัน ในผู้ที่เสพประจำ
    2 – 3 เดือน ในผู้ที่เสพเรื้อรัง
  • โคเคน
    12 – 48 ชม. ในผู้ที่ไม่ได้เสพเป็นประจำ
    1 – 4 วัน ในผู้ที่เสพประจำ
    2 – 3 สัปดาห์ ในผู้ที่เสพเรื้อรัง 

วิธีการตรวจสารเสพติดจากปัสสาวะ

การตรวจฉี่สารเสพติดเบื้องต้นจะใช้ชุดทดสอบ ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบแถบ (Strip) ที่ใช้วิธีจุ่มแถบทดสอบลงในปัสสาวะ และแบบตลับ (Cassette) ที่ใช้หลอดดูดปัสสาวะแล้วหยดลงบนตลับทดสอบ โดยทั้ง 2 วิธีสามารถทราบผลได้ใน 5 นาที ถ้าผลทดสอบขึ้น 2 ขีด แสดงว่าผลเป็นลบ หรือไม่พบสารเสพติด แต่ถ้าผลขึ้น 1 ขีด แสดงว่าผลเป็นบวก หรือพบสารเสพติด

ส่วนการตรวจยืนยัน ต้องใช้เทคนิคการตรวจขั้นสูง มีความถูกต้อง แม่นยำ และจำเพาะเจาะจงมากกว่า ระบุชนิดของยาเสพติดได้ สามารถไปตรวจได้ที่สถานพยาบาล หรือเก็บตัวอย่างส่งตรวจได้เอง ดังนี้

  • เก็บตัวอย่างปัสสาวะจำนวน 30 – 60 มิลลิลิตร ใส่ขวดปิดผนึก
  • ส่งห้องปฏิบัติการภายใน 48 ชั่วโมง ในสภาพแช่เย็น 4 – 8 องศาเซลเซียส
  • ส่งด้วยตนเองที่ สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาคาร 4 ชั้น 1 เวลา 08.30 – 15.30 น. (เว้นวันหยุดราชการ) หรือส่งทางไปรษณีย์พร้อมเอกสารประกอบ โดยเข้าไปกรอกข้อมูลที่ iLab Plus

ข้อดีและข้อเสียของการตรวจสารเสพติดจากปัสสาวะ

ข้อดี : 

  • เก็บตัวอย่างง่าย ไม่เจ็บ ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ 
  • ต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูง 
  • ตรวจพบสารเสพติดที่มีปริมาณน้อยได้
  • ทราบผลได้ในระยะเวลาอันสั้น
  • ระยะเวลาตรวจพบสารเสพติดนานกว่าตรวจเลือด

ข้อเสีย : 

  • โอกาสที่ตัวอย่างจะปนเปื้อน หรือถูกสับเปลี่ยนมีสูง
  • ผลอาจคลาดเคลื่อนจากปัจจัยที่ส่งผลต่อปัสสาวะ เช่น ปริมาณน้ำที่ดื่ม อาหาร อาหารเสริม วิตามิน หรือยาที่รับประทาน 

การตรวจสารเสพติดจากเลือด

การตรวจเลือดหาสารเสพติดถือเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง เนื่องจากสารเสพติดทุกชนิดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไม่ว่าจะเสพโดยวิธีใดก็ตาม เช่น การกิน การสูบ หรือการฉีด แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าการตรวจปัสสาวะ นิยมใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีผู้ประสบอุบัติเหตุมาและสงสัยว่ามีการใช้ยา หรือตรวจยืนยันผล เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า และตรวจพบได้ไม่นานหลังการใช้ยาครั้งสุดท้าย โดยสารเสพติดอยู่ในเลือดกี่วันขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ ความถี่ในการเสพ เช่น 

  • เฮโรอีน อยู่ในเลือดประมาณ 6 ชม. 
  • ทรามาดอล อยู่ในเลือดประมาณ 48 ชม.  
  • โคเคน อยู่ในเลือดประมาณ 24 ชม. 
  • เคตามีน หรือ ยาเค อยู่ในเลือดประมาณ 4 วัน

วิธีการตรวจจากเลือด

วิธีตรวจสารเสพติดคล้ายกับการเจาะเลือดทั่วไป ไม่ต้องงดน้ำ หรืออาหาร สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเจาะเลือดด้วยเข็ม และเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ

ข้อดีและข้อเสียของการตรวจจากเลือด

ข้อดี

  • มีความแม่นยำสูงกว่า และตรวจหาสารเสพติดได้หลายชนิดกว่าการตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจพบสารเสพติดได้แม้มีปริมาณน้อย
  • สามารถระบุชนิดและปริมาณของสารเสพติดได้

ข้อเสีย 

  • ระยะเวลาตรวจพบสารเสพติดสั้น
  • ต้องไปตรวจที่สถานพยาบาลเท่านั้น
  • ระยะเวลารอผลนาน
  • ค่าใช้จ่ายสูง

การตรวจสารเสพติดจากเส้นผม

การตรวจสารเสพติดสามารถใช้วิธีเก็บตัวอย่างจากเส้นผมได้เช่นกัน เนื่องจากสารเสพติดที่เข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมที่แกนกลางของเส้นผม (Medulla) โดยสามารถตรวจหาสารเสพติดได้ถึง 26 ชนิด เช่น ยาบ้า เฮโรอีน มอร์ฟีน ยานอนหลับ เหมาะสำหรับใช้ตรวจการเสพเรื้อรัง หรือประวัติการเสพย้อนหลัง รวมถึงช่วยประเมินอาการผู้ติดยาเสพติดได้ เพราะมีระยะเวลาตรวจพบสารเสพติดนานถึง 90 วันหลังการใช้ยาครั้งสุดท้าย แม้จะหยุดเสพไปนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ตาม และยังสามารถระบุช่วงเวลาที่มีการใช้สารเสพติดได้อีกด้วย

วิธีการตรวจสารเสพติดจากเส้นผม

การเก็บตัวอย่างเส้นผมสำหรับการตรวจสารเสพติด จะตัดเส้นผมบริเวณตรงกลางด้านหลังศีรษะประมาณ 90 – 120 เส้น หรือปริมาณเท่ากับขนาดของดินสอ 1 แท่ง โดยวางกรรไกรให้ชิดกับหนังศีรษะมากที่สุด หากผมสั้นมาก ต้องเก็บตัวอย่างเพิ่มเพื่อให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ หรือหากไม่มีเส้นผม สามารถใช้ขนส่วนอื่นบนร่างกายได้ เช่น หนวด เครา ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง 

ข้อดีและข้อเสียของการตรวจสารเสพติดจากเส้นผม

ข้อดี 

  • ผลตรวจสารเสพติดมีความถูกต้องแม่นยำสูง
  • ระยะเวลาตรวจพบนานที่สุด
  • ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ
  • สามารถตรวจพบได้แม้ผู้เสพจะหยุดใช้ยาระยะหนึ่ง
  • ตรวจหาสารเสพติดได้หลายชนิดกว่าการตรวจปัสสาวะและเลือด

ข้อเสีย 

  • ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  • ใช้เวลาวิเคราะห์ผลนานกว่าการตรวจเลือดและปัสสาวะ
  • ไม่สามารถใช้ตรวจหาสารกลุ่มกัญชาได้

การตรวจสารเสพติดจากน้ำลาย

การตรวจจากน้ำลาย เหมาะสำหรับตรวจคัดกรองการใช้สารเสพติดล่าสุด หรือสงสัยว่าเพิ่งมีการใช้ยา เพราะระยะเวลาตรวจพบสั้นพอๆ กับการตรวจเลือด หรือประมาณ 2 วันเท่านั้น แต่เป็นวิธีที่ดำเนินการได้รวดเร็ว ใช้ในกรณีตรวจพนักงานที่มีจำนวนมากได้ ทั้งยังมีโอกาสเกิดการสลับตัวอย่างน้อยกว่าการตรวจปัสสาวะ 

วิธีการตรวจสารเสพติดจากน้ำลาย

ก่อนตรวจ 10 นาที ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำที่ตรวจหาสารเสพติดซึ่งมีลักษณะเป็นก้านสำลีไปถูบริเวณกระพุ้งแก้ม และนำใส่ในหลอดเก็บตัวอย่างที่เตรียมไว้ ก่อนส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป

ข้อดีและข้อเสียของการตรวจสารเสพติดจากน้ำลาย

ข้อดี 

  • ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาน้อย
  • ยากที่ผู้เข้ารับการตรวจจะโกงผลด้วยการสลับตัวอย่าง

ข้อเสีย

  • ความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจเลือดและปัสสาวะ
  • ผลอาจคลาดเคลื่อนจากการสูบบุหรี่ หรืออาหารที่รับประทานส่งผลต่อความเป็นกรด – ด่างของน้ำลาย 
  • ระยะเวลาตรวจพบสารเสพติดสั้น หากหยุดใช้ยาระยะหนึ่งก็อาจตรวจไม่พบ

การตรวจสารเสพติดจากเหงื่อ

การตรวจสารเสพติดจากเหงื่อ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะสำหรับตรวจการใช้สารเสพติดเรื้อรัง โดยสามารถตรวจพบการใช้สารเสพติดย้อนหลังได้ประมาณ 7-14 วัน และสามารถตรวจหาสารเสพติดได้มากถึง 15 ชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ ยาเค ยาเลิฟ เฮโรอีน โคเคน โคเดอีน นิยมใช้ในการติดตามผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัด หรือคุมประพฤติ

วิธีการตรวจสารเสพติดจากเหงื่อ

ขั้นตอนการตรวจเหงื่อหาสารเสพติด เจ้าหน้าที่จะนำอุปกรณ์เฉพาะซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าผืนเล็กๆ เช็ดบนร่างกาย และนำไปเข้าเครื่องอ่านผล หรืออาจใช้เป็นแผ่นแปะติดไว้บนผิวประมาณ 7 – 10 วันเพื่อรวบรวมเหงื่อ และนำไปวิเคราะห์ผล

ข้อดีและข้อเสียของการตรวจสารเสพติดจากเหงื่อ

ข้อดี 

  • ระยะเวลาตรวจพบสารเสพติดนานกว่าตรวจจากเลือดและน้ำลาย
  • หากใช้แบบเช็ดจะใช้เวลาตรวจและทราบผลเร็วในไม่กี่นาที

ข้อเสีย 

  • อัตราการเผาผลาญส่งผลต่อระยะเวลาที่สามารถตรวจพบสารเสพติด บางคนเผาผลาญยาได้เร็วกว่าคนอื่น ก็จะตรวจพบยาก
  • หากใช้แบบแผ่นแปะ จะใช้เวลาตรวจนาน เพราะต้องแปะไว้หลายวัน และมีโอกาสปนเปื้อนหากแผ่นแปะปิดไม่สนิท

เปรียบเทียบความแม่นยำของแต่ละวิธีการตรวจ

การเลือกวิธีตรวจสารเสพติดควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ความเหมาะสม และระยะเวลาของสารเสพติดที่อยู่ในร่างกาย เนื่องจากผลการตรวจสารเสพติดแต่ละวิธีมีความแม่นยำต่างกัน ดังนี้

วิธีป้องกันการโกงผลตรวจสารเสพติด

  • ตรวจแบบสุ่ม ผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าเพื่อตบตาหรือหลีกเลี่ยงการตรวจได้
  • เก็บตัวอย่างด้วยความรอบคอบ ดำเนินการอย่างรัดกุมและมีมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน สับเปลี่ยน หรือดัดแปลงตัวอย่างที่นำมาตรวจ
  • ตรวจสอบอุณหภูมิของตัวอย่าง ใช้สำหรับการตรวจปัสสาวะ เพื่อยืนยันว่าตัวอย่างนั้นมาจากผู้เข้ารับการตรวจจริง และไม่ได้มีการผสมน้ำ 
  • ตรวจมากกว่า 1 วิธี เช่น ตรวจปัสสาวะร่วมกับการตรวจเส้นผมหรือน้ำลาย จะช่วยยืนยันผลได้ชัดเจน และลดโอกาสโกงผล
  • ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ตรวจหาสารเสพติดซ้ำเป็นระยะ ป้องกันกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจหยุดใช้สารเสพติดชั่วคราวเพื่อโกงผลการตรวจ 

ขั้นตอนการตรวจสารเสพติดมีอะไรบ้าง?

การตรวจสารเสพติด สามารถเข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกชั้นนำ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  • ทำประวัติ แจ้งชื่อ กรอกประวัติ และเตรียมเอกสารยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่
  • ตรวจร่างกายเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติ ตรวจวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก ประเมินอาการผู้ที่ติดยาเสพติดรุนแรง
  • เก็บตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่าง เช่น ปัสสาวะ เลือด น้ำลาย เส้นผม หรือเหงื่อ
  • แจ้งผล เจ้าหน้าที่ทำการแจ้งผล หากมีผลเป็นบวก แพทย์จะให้คำแนะนำในการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง

หากคุณหรือคนใกล้ชิดได้รับผลตรวจเป็นบวก ควรเข้ารับการบำบัดโดยเร็ว เราเป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดไลท์เฮ้าส์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ให้บริการบำบัดยาเสพติดแบบกินนอน รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 7 คน เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง โดยเปิดรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง เน้นการบำบัดแบบองค์รวม มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทีมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นทีมที่ปรึกษา นักจิตวิทยา พยาบาลวิชาชีพ และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้เข้ารับการบำบัดจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ราคาเดียว ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้เลยวันนี้

References

สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ. https://website.bdn.go.th/th/service/detail/rQxWewEb3Q/nGO4AtWewEb3QWewEb3Q 

ดร. สุเมธ เที่ยงธรรม. การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ. https://bdn.go.th/attachment/news/download.php?WP=GT1gn2qCqWOchKwtpTggWaplGQEgG2rDqYyc4Uux 

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์. 2022. ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผม. https://www.cifs.go.th/index.php?mod=news&route=news_detail&v=Vm10YWIyUXlSbkpOV0VwT1ZtdHdVbFpyVWtKUFVUMDkrUw 

Hayley Hudson. 2024. How Long Do Drugs Stay In Your System?. https://www.addictioncenter.com/drugs/how-long-do-drugs-stay-in-your-system/ 

Cleveland Clinic. 2022. Drug Test. https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/10285-drug-testing 

Acuity Intenational. 2024. Drug Screen vs Drug Test: Understanding Key Differences. https://acuityinternational.com/blog/drug-screen-vs-drug-test/#:~:text=Urine%20drug%20screen:%20Drugs%20in,not%20just%20the%20drug%20class

ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดและด้านสภาพจิตใจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เกี่ยวกับศูนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์

เป็นศูนย์ฟื้นฟูและพักฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรุงเทพ ศุนย์ฟื้นฟูไลท์เฮ้าส์ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในรูปแบบอเมริกัน ให้การรักษาติดยาเสพติดที่มีคุณภาพสูงสุดในราคาที่เหมาะสมและเป็นการบำบัดแบบเฉพาะในประเทศไทยเพื่อให้การรักษาเป็นรายบุคคลกับผู้บำบัดรักษาทุกราย เราเป็นเจ้าของและดำเนินการโดยทีมงานชาวอเมริกันและคนไทยที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมการรักษาการติดยาเสพติดและความผิดปกติด้านสุขภาพจิตจากสหรัฐอเมริกา

บริการของเรา

ให้การรักษาอาการของผู้ที่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์โดยมีวิธีการรักษาแบบเหมาะสำหรับแต่ละบุคคล เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดการติดยาเสพติดที่มีคุณสมบัติและความรู้เหมาะสมที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ของเราทุกคนจบปริญญาโทหรือสูงกว่าโดยมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานด้านสุขภาพจิตและการรักษาติดยาเสพติด ได้รับการฝึกอบรมในการรักษาการติดยาเสพติดและรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านสุขภาพจิต

ติดต่อเรา

Lighthouse Human Services & Consulting, Co., Ltd.

Head Office:
Ramkamheng 118
Saphan Sung, Bangkok 10240
Thailand

Email: [email protected]